วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

การตัดแต่งกิ่ง

การตัดแต่งกิ่ง
วัตถุประสงค์ของการตัดแต่งกิ่ง (Pruning Fundamentals) สุเมษ เกตุวราภรณ์ (2537)แบ่งออกเป็นข้อๆ ดังนี้
1. ตัดแต่งเพื่อลดความแน่นทึบของทรงพุ่ม (Prune to thin dense growth) ต้นไม้โดยปกติธรรมชาติ หากไม่มีการตัดแต่งเลยจะมีทรงพุ่มที่แน่นทึบ อับลม แสงแดดส่องไม่ทั่วถึง เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง นอกจากนี้ถ้าหากทรงพุ่มของต้นไม้ผลที่ยื่นไปชนกับทรงพุ่มกับอีกต้น ปริมาณที่ทรงพุ่มชนกันมักไม่ออกดอกออกผล การตัดแต่งเพื่อวัตถุประสงค์ลดความแน่นทึบของทรงพุ่มก็เพื่อจะให้แสงส่องได้อย่างทั่วถึง ทำให้ส่วนที่อยู่ข้างในทรงพุ่มหรือข้างล่างได้รับแสง กิ่งที่มีแมลงทำลาย นอกจากนั้นยังเป็นการตัดแต่งเพื่อไม่ให้ทรงพุ่มชนกับต้นอื่น การตัดแต่งเพื่อลดความแน่ทึบของทรงพุ่ม ดังแสดงในภาพที่ 2.6ก.
2. ตัดแต่งเพื่อ ทำลายกิ่งที่เสียหาย (Prune to correct or repair damage) กิ่งของไม้ผลมีกจะถูกทำลายอยู่เสมอ อาจเนื่องมากจากลมทำให้กิ่งฉีกขาด โรคหรือแมลงทำลาย ทำให้กิ่งแห้งตายหรือหักเหลือตอถึง ชาวสวนต้องตัดแต่งเพื่อทำลายกิ่งที่เสียหายเหล่านี้ เพราะเมื่อปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นที่สะสมของโรคที่เกิดขึ้นได้ การตัดแต่งเพื่อทำลายกิ่งที่เสียหาย ดังแสดงในรูปที่ 2.6 ข.
3. ตัดแต่งเพื่อกระตุ้นให้เกิดดอกและผล (Prune to encourage flower and fruit production) ปกติชาวสวนที่ปลูกไม้ผลย่อมต้องการทั้งปริมาณและคุณภาพของดอกและผล การตัดแต่งจะช่วยทั้งกระตุ้นให้เกิดกิ่งใหม่หรือตาใหม่ ทั้งตาใบและตาดอก เช่น ในกรณีของน้อยหน่าฝรั่ง นอกจากนี้ยังให้ผลที่มีจำนวนพอเหมาะกับลำต้น ทำให้ผลมีคุณภาพที่ดี การตัดแต่งเพื่อกระตุ้นให้เกิดดอกและผล
4. ตัดแต่งเพื่อบังคับให้ได้รูปทรง (Prune to direct or control growth) จากากรตัดแต่ง ผู้ตัดแต่งจะสามารถจัดรูปทรงได้ เพราะทุกครั้งที่ผู้ตัดแต่งกิ่งออกกิ่งจะหยุดการเจริญเติบโตในทิศทางนั้น และจะเจริญเติบโตในทิศทางอื่น ซึ่งผู้ตัดแต่งสามารถบังคับได้ เช่น จะให้ต้นไม้ผลแตกกิ่งข้างออกมาๆ ก็ตัดกิ่งยอดออกทิ้ง หรือกรณีที่ต้องการให้เจริญเติบโตในสวนยอดก็ตัดกิ่งข้างออก นอกจากนี้การตัดแต่งยังสามารถบังคับขนาดของทรงพุ่มได้
5. การตัดแต่งเพื่อให้ได้รูปทรงพิเศษ (Prune to achieve a special effect or an artificial form) การตัดแต่งนอกจากจะได้รูปทรงตามที่ต้องการแล้ว การตัดแต่งยังจะทำให้ผู้ตัดแต่งได้รูปทรงพิเศษอีกได้ ต้นไม้ที่สูงชะลูดตัดแต่งให้เป็นไม้พุ่มได้ ต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขาไว้ทุกทิศทางอาจบังคับให้แตกไปเพียงสองทิศ ในด้านการปลูกไม้ผลในปัจจุบันการตัดแต่งเพื่อวัตถุประสงค์ข้อนี้จะทำให้ลดระยะระหว่างต้นของไม้ผลได้ โดยบังคับให้กิ่งจำนวนก้านของต้นไม้ผลแตกไปทิศทางสองทิศด้านที่ไม่มีกิ่งก้านยื่นไปก็ย่นระยะเข้าหากันได้ ทำให้ได้จำนวนต้นต่อพื้นที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถจัดรูปทรงให้เป็นรูปร่างต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ปลูกไม้ผลเพื่อใช้เป็นไม้ประดับสถานที่ได้อีกด้วย การตัดแต่งเพื่อให้ได้รูปทรงพิเศษดังแสดงในภาพที่2.6 จ.
6. ตัดแต่งเพื่อการขนย้าย (Prune to compensate for transplanting) การปลูกไม้ผลบางครั้งต้องมีการขนย้ายปลูก หรือย้ายจากแปลงเพาะเพื่อปลูก โดยปกติพืชจะเจริญเติบโตโดยมีสมดุลระหว่างรากกับกิ่งก้านและใบ ในการขนย้ายรากอาจถูกทำลายได้บ้าง ดังนั้นการคายน้ำจกใบกับปริมาณแร่ธาตุอาหารหรือน้ำจากรากจึงไม่สมบูรณ์ ต้นไม้อาจจะได้รับอันตราได้ การตัดแต่งส่วนลำต้นออกบ้างในการขนย้าย จะเป็นการช่วยลดอันตรายของพืชได้






รูปที่ 1.4 การตัดแต่งยอดพืชเพื่อให้แตกใหม่ รูปที่ 1.5 ภาพตัดของน้อยหน่า

หลักในการตัดแต่งกิ่ง
1. ตัดแต่งกิ่งให้ใบได้รับแสงโดยทั่วถึง เพื่อให้ต้นไม้ผลมีประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงเต็มที่
2. ตัดแต่งให้มีการระบายอากาศภายในต้นดี จะช่วยในการป้องกันกำจัดโรคแมลง เพราะการระบายอากาศดีจะช่วยลดความชื้นสัมพัทธ์ภายในพุ่มใบ นอกจากนี้การพ่นยาป้องกันกำจัดโรคแมลงก็ทำได้อย่างทั่วถึง
ควรตัดกิ่งที่สานกันหรือกิ่งที่มีทิศทางไม่เป็นระเบียบอก
ตัดกิ่งมุมแคบซึ่งมีปัญหาฉีกหักออก
กิ่งที่แห้งตายเพราะโรคหรือแมลงจะต้องตัดออก
ตัดแต่งกิ่งให้มีการรับน้ำหนักสมดุลย์บนลำต้น
ควรตัดให้มีแผลเรียบติดกับกิ่งใหญ่เพื่อให้แผลหายเร็ว
การตัดแต่งกิ่งมีความสำคัญมากในไม้ผลเขตหนาว ผู้ที่ทำการตัดแต่งกิ่งจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับอุปนิสัยการเจริญเติบโตทางกิ่งใบและการออกดอกของไม้ผลที่ปลูก เช่น ท้อจะออกดอกบนกิ่งอายุ 1 ปี ดังนั้น จะต้องตัดแต่งกิ่งอายุ 1 ปี ให้กระจายรอบต้นอย่างสมดุลย์ และต้องประมาณให้มีการออกดอกพอเหมาะกับขนาดของต้น แต่การตัดแต่งกิ่งแอปเปิ้ลจะต้องพิจาณาว่าพันธุ์แอปเปิ้ลที่ปลูกนั้นเป็นชนิดที่ออกดอกบนกิ่งแบบยอดข้อสั้น (spur) หรือยอดข้อยาว (shoot) จากนั้นจึงทำการตัดแต่งเพื่อให้มีจำนวนดอกและการกระจายของดอกเป็นไปตามที่ต้องการ
สำหรับไม้ผลเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ส่วนใหญ่จะทำการตัดแต่งกิ่งแต่เพียงเบาบางยกเว้น ในกรณีที่จะทำการเปลี่ยนยอดพันธุ์ (Top working) จึงจะมีการตัดแต่งกิ่งอย่างหนัก
รูปแบบของการตัดแต่ง
การตัดแต่งโดยทั่ว ๆ จะมีอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ
1. เด็ดยอดหรือเด็ดตา (Pinching) โดยการใช้มือเด็ดเอาส่วนยอดออกหรือตาอ่อนออก ทั้งนี้เพื่อบังคับให้แตกกิ่งก้านสาขาตามที่ต้องการ วิธีการดังแสดงในรูปที่ 2.7 ก.
2. การตัดกิ่งให้เบาบางลง (Thinning) การตัดแต่งวิธีนี้จะตัดทั้งกิ่งทิ้งเพื่อให้ทรงต้นโปร่ง กระตุ้นกิ่งที่เหลืออยู่ให้เจริญเติบโต นอกจากนั้นยังช่วยทำลายกิ่งที่ไม่ต้องการเช่นกิ่งไขว้กัน กิ่งกระโดง กิ่งที่ถูกโรคหรือแมลงทำลาย ลักษณะการตัดแต่งให้เบาบางลงดังแสดงในรูปที่ 2.7 ข.
3. การตัดยอดให้สั้น (Heading back ) จะช่วยกระตุ้นการเจริญของจุดเจริญให้มีมากขึ้น เพราะตาอ่อนที่อยู่บนยอดจะปล่อยฮอร์โมนพวก auxin เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของตาข้าง เมื่อ


เครื่องมือเครื่องใช้ในการตัดแต่งกิ่ง
ฉลองชัย แบบประเสริฐ( 2526) ได้แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการตัดแต่งกิ่งดังต่อไปนี้
1. กรรไกรตัดแต่งกิ่ง (Pruning shear) โดยทั่วไปมักเป็นกรรไกรที่มีใบมีดด้านหนึ่งคมบางอีกด้านหนึ่งคมหนา ด้านบางทำหน้าที่ตัด ด้านหนาทำหน้าที่ยึดกิ่งที่ตัด วิธีจับกรรไกรที่ถูกต้องถ้าถนัดมือขวา ควรถือกรรไรกรให้ด้ามของคมมีดที่บางอยู่ทางนิ้วชี้ถึงนิ้วก้อย ส่วนด้ามของคมหนาอยู่ทางนิ้วหัวแม่มือ เวลาจะอ้าคมกรรไกร ใช้นิ้วทั้งสี่จับด้ามด้านคมมีดด้ามกรรไกร แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือเปิดล๊อคก็จะอ้ากรรไกรได้ เมื่อใช้เสร็จปิดล๊อคก็ทำอย่างเดียวกัน ที่ล๊อคกรรไกรบางรุ่นอาจทำไว้ที่ปลายด้ามกรรไกร






รูปที่ 1.6 เครื่องมือที่ใช้ตัดแต่งกิ่ง
ปกติเราใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกินครึ่งนิ้ว ถ้ากิ่งที่จะตัดมีขนาดใหญ่กว่าครึ่งนิ้ว เรามักใช้เลื่อยตัดแต่งกิ่งกิ่งใดที่เราตัดออกมามักตัดให้ชิดโคนกิ่ง ในตำแหน่งจากจุดที่กิ่งนั้น ๆ แตกออกมาไม่ให้เหลือเศษเพราะถ้าเหลือเศษไว้ ถ้ามีตาเหลืออยู่กิ่งจะแตกใหม่จากตาที่เหลือไว้ทำให้เสียเวลาต้องมาตัดต้นใหม่อีกดังนั้นการปฏิบัติที่ถูกต้อง มีหลักอยู่ว่าเราต้องให้คมของใบมีด้านแบนแนบกับกิ่งที่จะเอาไว้ เช่นถ้าตัดกิ่งที่ชี้ออกทางด้านซ้ายของต้น เวลาตัดให้คว่ำมือคมกรรไกรด้านแบนจะแนบลำต้นพอดีไม่มีเหลือเศษ (ตอ) และถ้าจะตัดกิ่งที่อยู่ด้านขวาลำต้นออก ให้พลิกกรรไกรหงายมือเอาคมมีดด้านแบนแนบกับลำต้นหรือกิ่งอีกเช่นกัน






รูปที่ 1.7 กรรไกรลมใช้ตัดแต่งกิ่งไม้
2. เลื่อยตัดแต่งกิ่ง (Pruning saw) ใช้สำหรับตัดแต่งกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ครึ่งนิ้วขึ้นไปเลื่อยบางชนิดใช้ตัดแต่งกิ่งที่มีขนาดใหญ่ได้ดี เช่น 4-10 นิ้ว ควรใช้เลื่อยคันธนู ถ้ากิ่งขนาด 0.5 - 4 นิ้ว ควรใช้เลื่อยตัดแต่งกิ่งเล็กเลื่อยตัดแต่งกิ่ง มีทั้งชนิดฟันเลื่อยคมกัดเนื้อไม้ เมื่อดึงเลื่อยเข้าหาตัวและชนิดคมสองทาง ชนิดคมสองทางใช้ได้ดีกว่าคมทางเดียว และปัจจุบัน เลื่อยเล็กตัดแต่งกิ่งนี้มีชนิดด้ามไม้ ด้ามเหล็กด้ามพลาสติก ชนิดพับเก็บใบเลื่อยได้ และที่พับเก็บใบเลื่อยไม่ได้ ชนิดพับเก็บใบเลื่อยได้ ที่มีขายอยู่ปัจจุบันเป็นแบบที่เบากะทัดรัด เมื่อไม่ใช้สามารถพับใบเลื่อยที่มีคมเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกงได้ หรือเมื่อต้องการเปลี่ยนใบเลื่อยใหม่ก็มีจำหน่ายให้ดีกว่า รุ่นพับคมใบเลื่อยไม่ได้หลายอย่าง แต่ราคาก็แพงกว่าประมาณ 2-3 เท่า







รูปที่ 1.8 แสดงการตัดกิ่งด้วยเลื่อย
วิธีการตัดแต่งกิ่งด้วยเลื่อย การตัดกิ่งเอนๆ หรือกิ่งนอน เพื่อเป็นการป้องกันกิ่งที่ตัดมิให้มีรอยแผลใหญ่เกินไปอันเกิดจากกิ่งแตกหัก หรือน้ำหนักของกิ่งที่ถ่วงลง เราอาจตัดแต่งกิ่งให้ห่างจากตำแหน่งที่ต้องการตัดออกไปเล็กน้อย โดยเลื่อยด้านล่างของกิ่งเข้าไป 1/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งก่อน แล้วจึงเลื่อยด้านบนกิ่งให้กิ่งขาด แล้วจึงเลื่อยกิ่งให้ชิดบริเวณที่ต้องการ รอยแผลที่ตัดควรให้เรียบและเสมอเป็นหน้าเดียว

การตัดแต่งกิ่งใหญ่อย่างถูกวิธี
เพื่อมิให้กิ่งฉีกหักถึงลำต้นเวลาน้ำหนักกิ่งถ่วงลงในขณะตัดกิ่ง ให้ปฏิบัติขณะตัดและรักษาบาดแผลหลังตัดดังนี้คือ
1. เลื่อยทางด้านข้างใต้กิ่งก่อน (ห่างจากโคนกิ่งประมาณ 20 ซม.) เลื่อยเข้าไปในเนื้อไม้ครึ่งหนึ่งหรือเลื่อยไปจนกว่าเลื่อยฝืด 2. จึงตัดหรือเปลี่ยนข้างบน (ห่างจากตำแหน่งที่เลื่อยครั้งแรกประมาณ 30 ซม.) เลื่อยไปจนกว่ากิ่งจะหักลงมา
3. ตัดตอกิ่งที่เหลือชิดโคนต้นให้มากที่สุด และเพื่อป้องกันการฉีกให้ตัดด้านล่างก่อน จึงค่อยตัดด้านบนเช่นเดียวกัน
4. ใช้มีดแต่งบาดแผลให้เรียบรูปไข่ (ป้องกันน้ำขัง)
5. ฉีดยากันเชื้อราทั่วบาดแผล หรือใช้สีทาไม้ทาปิดไว้ กรณีใช้สีทาหากเป็นสีสเปรย์จะป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลายได้ดีกว่าใช้แปรง




รูปที่ 1.9 แสดงการแตกยอดของกิ่งที่ตัดแล้วบันไดตัดแต่งกิ่งไม้ บันไดที่มีขาตั้งสำหรับขึ้นไปยืนตัดแต่งบริเวณปลายชายพุ่ม ซึ่งเป็นกิ่งเล็กไม่สามารถทานน้ำหนักคนได้ อาจทำเป็นนั่งร้านไม้หรือเหล็กก็ได้ วัสดุที่ทำควรมีน้ำหนักเบาแข็งแรงทนทาน
ยารักษาแผล แผลที่เกิดจากการตัดแต่งอาจใช้ยากันราผสมน้ำข้นๆ ทารอบแผลเพื่อป้องกันเชื้อรา เข้าทำลายและช่วยให้ปิดสนิทเร็ว นอกจากยากันราอาจใช้สีน้ำมัน สีพลาสติก ยางมะตอย ฟลิ้นโค๊ท หรือปูนแดงกินกับหมากก็ได้ แต่ปูนแดงกินกับหมากราคาถูกดีที่สุดในต้นที่ตัดแต่งกิ่งเอากิ่งใหญ่ๆ ที่เจริญทางสูงออก เพื่อลดความสูงนั้นควรใช้ปูนขาวผสมกับแป้งเปียกทากิ่งโดยเฉพาะกิ่งที่ถูกแสงแดดมาก เพื่อลดความร้อน (เพราะก่อนตัดยอดกิ่งที่อยู่ถัดลงมาได้รับแสงแดดเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อตัดยอดกลางออกทำให้แสงแดดเผาได้โดยตรง)
หลังจากตัดกิ่งเสร็จต้องรักษาบาดแผลมิให้เชื้อโรคเข้าทำลายทันที (กิ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 0.5 นิ้วขึ้นไป) โดยใช้สารเคมีโดยเฉพาะยาป้องกันเชื้อรา (สารประกอบทองแดง) สี, น้ำมัน,ดิน หรือปูนแดง ทาปิดปากแผลเพื่อรักษาบาดแผลให้เชื่อมปิดสนิทได้เร็วขึ้นแต่ถ้าแผลยังไม่ประสานเกิดแผลแห้งลามเข้าไปให้ตัดตัดใหม่อีกครั้ง (ตัดให้ถึงเนื้อไม้ที่ยังไม่ตาย) ในตำแหน่งชิดกับลำต้น ตัดเสร็จแต่งบาดแผลให้เรียบเป็นปากฉลาม พร้อมกับฉีดพ่นด้วยสีให้ทั่วเต็มบริเวณแผล
ในการตัดแต่งกิ่งเพื่อทอนกิ่งให้สั้นไม่หวังให้เกิดกิ่งใหม่นั้น ให้เข้าหน้ากรรไกรหรือเลื่อยชิดข้อ (ตา) ให้มากที่สุด เพื่อมิให้ตาแตกกิ่งใหม่ และไม่ว่าจะตัดเพื่ออะไรก็ตาม ต้องให้รอยแผลเป็นปากฉลามหันออกจากตา (ข้อ) เสมอ







รูปที่ 1.10 สภาพสวนน้อยหน้าที่ตัดแต่งแล้ว
เวลาของการตัดแต่ง
ระยะเวลาของการตัดแต่ง นั้นควรมีอยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะการกำจัดกิ่งที่ไม่พึงประสงค์ กิ่งเป็นโรค กิ่งที่ถูกแมลงทำลายออกให้ทรงต้นโปร่งอยู่เสมอ แต่อย่างไรก็ตามก็ควรมีระยะเวลาตัดแต่งใหญ่ประจำปีบ้าง ซึ่งไม้ผลแต่ละชนิดมีช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมแตกต่างกันในที่นี้จะขอกล่าวเพียงคร่าวๆ คือ
1. ไม้ผลที่ไม่ผลัดใบ ระยะเวลาที่เหมาะสมควรเป็นต้นฤดูของการเจริญเติบโต ช่วงต้นฤดูฝน
2. ไม้ผลผลัดใบ ระยะเวลาที่เหมาะสมควรเป็นหลักการจากการผลัดใบของไม้ผลชนิดนั้นแล้ว
3. ตัดแต่งหลังการเก็บเกี่ยวผล เพื่อทายลายกิ่งที่แห้งกิ่งที่เป็นโรค หรือตัดกิ่งที่ออกผลไปแล้วเพื่อให้แตกกิ่งใหม่ ทำให้ทรงต้นโปร่งและบำรุงต้นไม้ผลให้สมบูรณ์ต่อไป

ปริมาณของกิ่งที่ตัดออก
การตัดแต่งไม้ผลแต่ละชนิด ผู้ตัดแต่งต้องคำนึงถึงปริมาณการตัดแต่งของกิ่งที่ตัดออก โดยแบ่งคร่าวๆ ได้ 3 วิธีการ 1. การตัดแต่งอย่างเบาบาง (light pruning) วิธีการนี้เป็นการตัดแต่งเพียงเล็กน้อย ภายหลังที่ต้นไม้ผลได้รับการจัดทรงพุ่มที่ถูกต้องแล้ว ผู้ตัดแต่งมักจะตัดเอากิ่งที่ไม่พึงประสงค์ อาทิ เช่น กิ่ง

แห้ง กิ่งถูกโรคและแมลงเข้าทำลายออก เป็นต้น ถ้าตัดแต่งกิ่งออกมากเกินไปต้นอาจโทรมได้ ตัวอย่างไม้ผลพวกนี้เช่นส้ม ทุเรียน เงาะ ลำใย ลิ้นจี่
2. การตัดแต่งกิ่งปานกลาง (medium pruning) การตัดแต่งกิ่งวิธีนี้ปริมาณของกิ่งที่ถูกตัดออกจะมากกว่าวิธีแรกคือ นอกจากจะเอากิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออกแล้ว อาจจะตัดยอดออกเพื่อทำลายอิทธิพลของ auxins ซึ่งทำให้เกิด apical dorminance เช่น ในกรณีของมะนาวฝรั่ง (lemon) หรือตัดกิ่งออกให้หมดเพื่อให้ทรงต้นโปร่งอยู่เสมอ เช่น กรณีของลำใย ลิ้นจี่ มะม่วง
3. การตัดแต่งกิ่งอย่างหนัก (heavy pruning) ไม้ผลหลายๆ ชนิดต้องการตัดแต่งที่หนักมาก เช่น น้อยหน่า จะตัดแต่งจนโกร๋นไปทั้งต้น หลังจากที่ตัดกิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออกแล้ว จะทำการตัดแต่งกิ่งแขนงย่อยที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งเล็กกว่า 4 มิลลิเมตรออก ตัดส่วนปลายยอดของทุกกิ่งที่เหลือ แล้วทำการรุดใบทิ้งให้หมด ทั้งนี้เพื่อเป็นการบังคับให้เกิดดอกเกิดผล หรือการตัดแต่งพุทราก็เช่นเดียวกัน ตัดแต่งกิ่งในปริมาณที่มาก ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิ่งใหม่ขึ้น ทำให้เพิ่มคุณภาพและปริมาณของผล
ข้อควรระวังในการตัดแต่ง ผู้ตัดแต่งต้นไม้ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ในการตัดแต่งแต่ละครั้งหรือแต่ละกิ่งท่านมีโอกาสเพียงครั้งเดียว คิดให้ดีก่อนที่จะตัด ตัดแล้วไม่สามารถทำให้กลับคืนได้ นอกจากนั้นตัดแต่น้อย การตัดแต่งกิ่งน้อยกินไปจะให้ผลที่ดีกว่าตัดออกมากเกินไป

การตัดแต่งกิ่งไม้ผลเขตร้อน
การตัดแต่งกิ่งมะม่วงพันธุ์ต่าง ๆ
การตัดแต่งกิ่งมะม่วงที่ปลูกในระยะชิด
1. เริ่มจากการเลี้ยงยอดหรือ ลำต้น ที่เกิดจากการติดตาจนสูง 50 เซนติเมตร
2. ใช้เล็บสะกิดยอดออก หรือใช้ปลายมีดบากเป็นรูปสามเหลี่ยมปลิดตายอดออกเพื่อให้ตาข้างที่อยู่ใกล้ๆ ระดับเดียวกันแตกออกเป็นกิ่งข้าง
3. ปล่อยให้ตาข้างแตกโดยอิสระ เมื่อกิ่งแตกออกมามีความยาว 3-4 นิ้ว เลือกเลี้ยงกิ่งที่แข็งแรงมีขนาดใกล้เคียงกันไว้ 3-4 กิ่ง และ ควรมีทิศทางที่เป็นมุมพอดีได้ระยะกันไม่แคบหรือกว้างเกินไป
4. เมื่อยอดที่เลี้ยงไว้ 3-4 กิ่ง พอเป็นใบแก่ก็ทำลายยอดอีกครั้งเพื่อให้แตกกิ่งแขนงพร้อมกัน และเลือกไว้ยอดละ 2 กิ่ง เลือกกิ่งที่สมบูรณ์อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามมีง่ามกิ่งกว้าง มุมง่ามกิ่งประมาณ 60 องศา ถึงรัศมียอดทั้งหมดจะได้ 6-8 ยอด

5. เมื่อยอดชั้นที่ 2 เลี้ยงไว้ 6 หรือ 8 กิ่ง เกิดใบแก่อีกครั้งก็จะทำลายยอดเช่นกัน ขั้นตอนที่ 2 และ 3 และเลี้ยงไว้ ยอดละ 3 กิ่ง มุมง่ามกิ่งประมาณ 45 องศา ก็จะได้ยอดครั้งนี้ (ครั้งสุดท้าย) 18 หรือ 24 กิ่ง
6. ถ้าเขียนเป็นสูตรตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงขั้นสุดท้ายคือ 1-3-6-18 หรือ 1-4-8-24 ถ้าการตัดแต่งกิ่งเลี้ยงยอดไว้ครั่งละ 3 กิ่ง ตลอดก็จะได้เป็นสูตร 1-3-9-27

การตัดแต่งกิ่งมะม่วงที่ให้ผลแล้วระยะชิด เมื่อปลูกมะม่วงไปได้ 3-4 ปี เป็นช่วงที่จะเริ่มให้ต้นมะม่วงออกดอกและผลอย่างเต็มที่ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะต้องทำการตัดแต่งกิ่ง เพื่อควบคุมทรงพุ่มของต้นมะม่วงให้มีขนาดเท่าเดิม การตัดแต่งกิ่งจะต้องตัดให้เหลือสั้นโดยตัดจากปลายกิ่งลึกเข้ามา 3 ช่วงใบ ทุกกิ่งทุกต้น ซึ่งตัดแล้วทรงพุ่มมะม่วงจะเหลือประมาณ 2 ช่วงใบ (ช่วงการเจริญ) และการตัดใบครั้งต่อๆ ไป ก็จะทำในลักษณะเดียวกันนี้ แต่จะเหลือโคนกิ่งของช่วงใบที่ 3 ติดอยู่ปลายกิ่ง ช่วงใบที่ 2 กิ่งละ 2 ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร โดยเลือกเอากิ่งที่แตกเข้าในพุ่มไว้ เพื่อป้องกันมิให้ทรงพุ่มมีขนาดเกิน 1 เมตร
การตัดแต่งกิ่งจะอาศัยตาที่โคนกิ่ง เมื่อกิ่งแตกออกมาโตพอสมควร ควรจะทำการ ปลิดกิ่งที่ไม่ต้องการออก เหลือไว้แต่กิ่งที่เจริญเหมาะสมการตัดแต่งกิ่งจะต้องมีการวางแผนและเตรียมการไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วจึงจะทำให้ยอดที่แตกออกมาแก่และสมบูรณ์พอที่จะออกดอกได้ในปีนั้นเลย ถ้าไม่มีการเตรียมการหรือตัดแต่งช้าเกินไป จะส่งผลต่อผลผลิตที่จะได้ในปีนั้นอาจจะลดลงไปได้มาก

การจะตัดแต่งควรทำในเดือนมิถุนายน ซึ่งยอดจะแก่ในเดือนพฤศจิกายน ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน นับตั้งแต่ตัดแต่งกิ่ง

การตัดแต่งกิ่งมะม่วงที่ให้ผลแล้ว (ต้นใหญ่)
ครั้งที่ 1 ควรเริ่มลงมือตัดแต่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้วทุกปี ประมาณต้นเดือนมิถุนายน มะม่วงยังไม่แตกใบอ่อน โดยเริ่มเลือกตัดแต่งกิ่งจากโคนต้นกิ่งใดกิ่งหนึ่งไปถึง ปลายกิ่งจนครบทุกกิ่ง กิ่งที่ควรจะตัดทิ้งได้แก่
1. กิ่งน้ำค้างหรือกิ่งกระโดง
2. กิ่งที่เป็นโรคหรือกิ่งแห้ง
3. กิ่งไขว้ คือกิ่งที่ชี้ผิดทิศทางไปชี้ออกนอกขายพุ่ม
4. กิ่งกาฝาก และกิ่งที่ฉีกหักเสียหาย
5. กิ่งซ้อนทับ คือกิ่งที่เกิดในตำแหน่งใกล้เคียงกัน ควรตัดออกกิ่งหนึ่ง
6. ในตำแหน่งกิ่งใหญ่ๆ มีกิ่งแซมให้ตัดออก
7. ต้นที่ถูกลมพัดยอดเอียง หรือต้นที่สูงเกินไป อาจจะตัดกิ่งที่สูงเกินออกไป
8. ตำแหน่งปลายกิ่งมีกิ่งแตกเป็นกระจุกไว้ 2-3 กิ่ง ให้เป็นมุมสวยงามห่างกัน
นอกจากนั้นจะต้องมีการตัดแต่งกิ่งบริเวณปลายกิ่ง เพื่อควบคุมทรงพุ่มทรงต้น การตัดแต่งกิ่งที่ปลายกิ่ง จะเป็นส่วนช่วยให้การออกดอกและติดผลของมะม่วง เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ

วิธีการตัดแต่งกิ่งมะม่วงเพื่อควบคุมทรงพุ่ม เป็นการตัดแต่งที่ปลายกิ่งซึ่งจะปฏิบัติดังนี้คือ
1. ถ้าตัดมะม่วงที่ทรงพุ่มเพิ่งเริ่มจะชนกัน การตัดแต่งปลายกิ่งจะตัดในลักษณะตัดลึกจากปลายกิ่งเข้ามา 1 ช่วงข้อ โดยตัดทุกกิ่งทุกต้น
2. ถ้าต้นมะม่วงที่ทรงพุ่มมาเกย การตัดแต่งปลายกิ่งจะตัดในลักษณะ ตัดลึกจากปลายกิ่งเข้ามา 2-3 ช่วงข้อ โดยตัดแบบกิ่งเว้นกิ่งทุกต้น หรือตัดปลายกิ่งทุกกิ่งแต่ตัดต้นเว้นต้นก็มีค่าเท่ากัน
3. ตัดที่ตัดในลักษณะตั้งข้อ 2 ยังเห็นว่าทรงพุ่มยังทึบอยู่ก็อาจจะตัดเป็นลึกจากปลายกิ่งเข้ามา 2-3 ช่วงข้อ โดยตัดทุกกิ่ง ทุกต้นเลย
การตัดแต่งปลายกิ่งควรจะทำราวเดือนมิถุนายน ยอดอ่อนก็จะแตกราวเดือนกรกฏาคม และมาแก่ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะทันต่อการออกดอกพอดี
ครั้งที่ 2 จะดำเนินการหลังจากหมดฝนแล้ว โดยจะตัดแต่งกิ่งที่แตกออกมาจากส่วนของกิ่งใหญ่ และลำต้นภายในทรงพุ่ม

การตัดแต่งกิ่งฝรั่ง
วัตถุประสงค์หลักของการตัดแต่งฝรั่งแปรรูปก็คือทำให้เกิดความสะดวกและประหยัดในการเก็บเกี่ยวเป็นสำคัญ ก่อนจะตัดแต่งจะต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่าจะเก็บเกี่ยวด้วยวิธีใด เพื่อที่จะตัดแต่งลำต้นตั้งแต่พื้นดินจนถึงระยะ 80 เซนติเมตร ให้เกลี้ยงเกลาไม่มีกิ่งต้นเกะกะ ถ้าใช้คนเก็บก็ไม่จำเป็นต้องเอาพุ่มเหล่านี้ออกจะ ปล่อยให้เป็นพุ่มหรือเป็นแท่นก็แล้วแต่จะต้องการ การตัดแต่งมักจะเริ่มทำหลังปลูกลงดินแล้วประมาณ 4-6 เดือน
การตัดแต่งกิ่งฝรั่งกินสด วัตถุประสงค์หลักคือ ให้เกิดโครงการร่าง และเรือนกิ่งที่แข็งพร้อมจะออกลูกดกโดยกิ่งไม่ซอกซ้ำ ฉีกขาด รักษาขนาดผลให้ใหญ่อยู่เสมอ เพราะฝรั่งพอกิ่งแก่ เกิน 3 ปี ลูกจะเล็กลง ดังนั้นจึงต้องให้มีกิ่งอายุ 1-3 ปี ไว้กับต้นเสมอเมื่อผลิตออกลูก
วิธีทำก็คือทุก 2-3 ปี จะต้องสงกิ่งออกบ้าง โดยการตัดยอดหรือตัดข้างพอประมาณ กิ่งใหม่ก็จะแตกออกมาจำนวนลูกต่อต้นจะน้อยลง แต่ขนาดใหญ่ขึ้น
หลังจากตัดแต่งกิ่ง ทั้งใบและกิ่งฝรั่งจะลดลง โอกาสที่ถูกจะถูกแสงแดดจัดจนผิวไหม้เสียราคาได้ โดยเฉพาะกับฝรั่งกินสดมีมาก

การตัดแต่งกิ่งไม้ผลเขตกึ่งร้อน
1.การตัดแต่งกิ่งส้ม
การตัดแต่งกิ่งส้ม อายุ 1-2 ปี โดยคำนึงถึงการใช้ทรงพุ่มเป็นส่วนใหญ่ แบ่งได้ 2 พวก
1. พวกที่มีลักษณะลำต้นเป็นต้นเดียว การตัดแต่งกิ่งพวกนี้ มักจะตัดให้สูงจากพื้นดินประมาณ 60 ซม. โดยตัดยอดทิ้งไป หลังจากนั้นจะมีกิ่งแขนงเล็กๆ แตกออกมาจากโคนกิ่งเป็นจำนวนมาก เมื่อกิ่งเหล่านี้เจริญเติบโตขึ้นมาดีแล้วให้เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ไว้สัก 4-5 กิ่ง ให้แต่ละกิ่งมีระยะห่างกันพอสมควรและกิ่งแขนงห่างสุดควรสูงจากพื้นดิน 30-45 ซม. กิ่งแขนงที่อยู่ต่ำกว่านี้ให้ตัดทิ้ง
2. พวกที่มีกิ่งเป็นง่าม หลังปลูกแล้วควรตัดทิ้งเสีย 1 กิ่ง โดยเลือกกิ่งที่มีลักษณะตรงและสมบูรณ์ไว้ เพื่อให้เหลือกิ่งโด่งแล้วจึงจัดการการตัดแต่งกิ่งเหมือนกิ่งพวกแรก
เมื่อต้นส้มเขียวหวานมีอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป จะมีกิ่งแขนงแตกออกมามากให้ตัดแต่งกิ่งเล็กน้อยและกิ่งที่ไม่ต้องการออกทิ้งให้หมด เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง
สำหรับการปฏิบัติการตัดแต่งกิ่งของการปลูกส้มโอในปัจจุบัน ส่วนมากแล้วชาวสวนมักจะไม่ทำการตัดแต่งกิ่งกัน อาจมีบ้างแต่ก็มีการตัดแต่งกิ่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กิ่งที่ต้องตัด เช่น กิ่งแห้งตาย กิ่งรกรุงรังบริเวณส่วนต่างและกิ่งกระโดงแต่กิ่งกระโดงจากต้นที่มีขนาดเล็กจะไม่ตัดทิ้งเพราะจะไว้เป็นพุ่มต่อไปได้
การปลูกส้มโอของชาวสวนส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้มีทรงพุ่มแน่นทึบ ใบสมบูรณ์ สีเขียวเข้ม ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่า การสะสมอาหารของส้มส่วนใหญ่จะเก็บเอาไว้ที่ใบ การให้มีใบส้มติดอยู่ที่ต้นมาก จึงเท่ากับให้ส้มเก็บสำรองอาหารเอาไว้ได้มาก พอที่จะติดดอกติดผล เหตุผลอื่นๆ เช่น ในช่วงฤดูแล้งส้มมีใบมากจะช่วยกันแดดทำให้ร่มรื่นอากาศชุ่มชื้นดี เก็บรักษาความชื้นไว้ได้มาก
การตัดแต่งกิ่งส้มในระยะหลังจากให้ผลผลิตแล้ว จะต้องกระทำทุกๆ ปี หลังจากเก็บเกี่ยวผลเสร็จแล้วและทำการใส่ปุ๋ยด้วย เพื่อให้ต้นส้มได้รับสารอาหารที่จะนำไปใช้ในการแตกกิ่งก้านใหม่ต่อไป กิ่งที่จะต้องทำการตัดแต่งกิ่งในช่วงนี้ควรตัดกิ่งที่มีลักษณะดังนี้
1. ตัดกิ่งที่ลักษณะไม่สมบูรณ์ หรือกิ่งน้ำค้างเพื่อให้ต้นส้มดูดอาหารไปเลี้ยง กิ่งที่ต้องการให้สมบูรณ์เต็มที่
2. ตัดกิ่งที่ปลายกิ่งชิดดินทิ้ง เพื่อสะดวกต่อการใส่ปุ๋ย การพรวนดิน กำจัดวัชพืช
3. ตัดกิ่งที่มีลักษณะไม่ดีทิ้ง เช่น กิ่งคด งอ ไขว้กัน เพื่อป้องกันการเสียดสีของกิ่ง ซึ่งอาจจะเกิดเป็นแผล เป็นผลทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายทางบาดแผลได้ง่าย
4. ตัดกิ่งที่ถูกโรคหรือแมลงทำลาย
5. ตัดแต่งกิ่งที่รกทึบด้านล่างและกลางลำต้นออก เพื่อให้แสงส่องเข้าถึง โคนต้นได้ทั่ว ซึ่งเป็นผลใน การป้องกันโรคและแมลงที่จะทำลายบริเวณโคนราก

การตัดแต่งกิ่งลิ้นจี่
วิธีการตัดกิ่งและช่วงเวลาการตัดแต่งกิ่งในรอบปี
1. การตัดแต่งกิ่งระยะแรกก่อนตกผลคือ การตัดแต่งกิ่งปีแรกจนถึงลิ้นจี่อายุได้ 4 ปี การตัดแต่งกิ่งมุ่งไปในทางแต่งกิ่งให้ได้ทรวดทรง โครงสร้างที่แข็งแรง ลิ้นจี่จะแตกใบอ่อนกิ่งก้านสาขาอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง คือ ฤดูฝน 2 ครั้ง ในฤดูหนาว 1 ครั้ง และฤดูร้อน 1 ครั้ง ถ้ามีการให้น้ำ หรือได้รับน้ำบำรุงรักษาอย่างดี การแตกใบอ่อนกิ่งก้านสาขา แต่ละครั้งมากมายเราต้องตัดแต่งกิ่ง ช่วงเวลาตัดแต่งกิ่ง คือ หลังจากเวลาแตกใบอ่อนแล้ว ใบอ่อนกลายเป็นใบแก่ควรจะตัดแต่งกิ่ง หรือช่วงเวลาใส่ปุ๋ยแล้ว แต่ทางที่ดีควรตัดแต่งกิ่งในช่วงเวลาเหล่านี้ในรอบ 1 ปี
ตัดแต่งกิ่งในฤดูฝน 2 ครั้งและตัดแต่งกิ่งในฤดูหนาว 1 ครั้งรวมทั้งหมดตัดแต่งกิ่ง 3 ครั้ง ในรอบปี ก็เป็นการเพียงพอ สำหรับสิ้นจี่ต้นที่ยังไม่ออกดอกติดผล

การตัดแต่งกิ่งระยะลิ้นจี่ตกผลแล้ว คือ การตัดแต่งกิ่งลิ้นจี่ที่มีต้นโตแล้วพอที่จะออกดอกติดผลหรืออายุ 5 ปี ขึ้นไปจนถึงอายุแก่ 25 ปี ควรตัดแต่งในรอบปี สำหรับลิ้นจี่ที่มีอายุตกผลได้ปี 2 ครั้ง คือ
2.1 ตัดแต่งกิ่งหลังเก็บผลแล้ว หลังจากเก็บผลแก่ของลิ้นจี่สู่ตลาดแล้วควรจะได้ตัดแต่งกิ่งออกอย่างน้อย 20 % ของกิ่งที่มีอยู่ กิ่งลิ้นจี่ที่ควรเอาออก คือ
กิ่งที่ถูกกิ่งอื่นบังแสงแดด ไม่ได้รับแสงเต็มที่กิ่งที่เป็นรอยแตกร้าว หรือถูกหนอนเจาะกิ่งที่คดและยาวเกินไปกิ่งที่ยื่นออกมาจากพุ่ม ต้องใช้ไม้ค้ำยัน เพราะไม่สามารถจะทรงตัวได้กิ่งเล็กกิ่ง อ่อนซึ่งจะไม่ออกผลกิ่งที่ถูกตัวไรสนิมเข้าทำลาย ใบหงิกงอเป็นกำทะหยี่ ตัดกิ่งออกแล้วเผาเสีย
การตัดแต่งกิ่งก่อนตกผล หมายถึง ก่อนจะเวลาดอกตูมให้เห็นในช่วงปลายฝน เดือนตุลาคม เจ้าของสวนควรใช้กรรไกรเล็กตัดแต่งกิ่งออกเสียบ้าง ให้โปร่งได้รับแสงและอากาศถ่ายเทได้สะดวกเอากิ่งเล็กออกประมาณ 10 % ของกิ่งทั้งหมด

การตัดแต่งกิ่งลิ้นจี่ที่แก่แล้ว ลิ้นจี่ต้นแก่ที่บางต้นแตกใยอ่อนปีละ 1 ครั้ง กิ่งก้านสาขาบังแสดงแดดกัน ดังนั้นจึงแตกออกได้ยาก 2-3 ปี ติดผลครั้ง การปรับปรุงสวนลิ้นจี่ต้นแก่นี้ ถ้าลิ้นจี่แก่ทรงพุ่มชิดกันควรเลือกตัดแต่งกิ่งต้นลิ้นจี่ออกให้หมดเหลือ ไว้แต่ตอ ควรทำก่อนฤดูฝนตัดตอออกเป็นรูปปากฉลาม สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร แล้วทาสีตรงที่รอบตัดพอถึงฤดูฝนบริเวณริมรอยตัดของตอลิ้นจี่จะมีกิ่งลิ้นจี่แตกออกมากมาย ให้ตัดหรือเด็ดกิ่งอ่อนที่ออกใหม่ทิ้ง ให้เหลือกิ่งที่เราต้องการไว้ ต่อมาอีก 2 ปี ลิ้นที่ต้นแก่ที่เสื่อมโทรมจะติดดอกออกผลดีเช่นเดียวกัน กับลิ้นจี่เมื่ออายุ 8 - 12 ปีก่อน การบังแสงก็จะไม่เกิดขึ้นในสวนลิ้นจี่

ในกรณีที่ลิ้นจี่วัยตกผลหรืออายุระหว่างตกผล คือ 5 - 20 ปี เกิดอุบัติเหตุถูกลมพายุลูกเห็บตก หักโค่น กิ่งหัก เราก็ใช้วิธีตัดแต่งกิ่งลิ้นจี่มาใช้ได้ โดยการรีบตัดกิ่งที่หัก ต้นที่โค่นให้เหลือแต่ตอ แล้วบำรุงเลี้ยงหน่อที่แข็งแรงไว้ ใช้เวลา 2 ปี ก็จะเป็นต้นพุ่มดีเช่นเดิม

การตัดแต่งกิ่งลำไย
วิธีการปฏิบัติมีดังต่อไปนี้
1. การเลือกไว้กิ่งแขนงใหญ่กรณีแตกออกอยู่เหนือระดับดิน ให้พยายามเลือกกิ่งที่ทำมุมกว้างกับลำต้นให้มากที่สุด กิ่งไหนทำมุมกับลำต้นแคบเกินไปให้ตัดทิ้ง โดยเลือกไว้ประมาณ 3 - 5 กิ่งใหญ่ ๆ แต่กรณีที่ลำต้นหลายต้นแตกจากโค่นต้นระดับผิวดินก็ไม่จำเป็นตัดแต่งยอดกลาง แต่ใช้ไว้กิ่งเหล่านั้นแทน ตัดเฉพาะกิ่งล่าง ๆ ระดับดินออก
2. หลังการเก็บเกี่ยว ให้ตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ เช่น กิ่งเป็นโรคและแมลงตลอดจนกิ่งที่เกิดภายในทรงพุ่ม เพื่อใช้ทรงพุ่มโปร่ง
3. การตัดแต่งกิ่งที่ให้ผลแล้ว พยายามตัดปลายทิ้งให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้แต่ต้องให้เหลือใบไว้จำนวนหนึ่ง (ตัดแต่งครั้งเดียวทันทีหลังเก็บเกี่ยวผล)
4. ขณะเก็บเกี่ยวผล ถ้าทำได้และเป็นไปได้ให้ตัดแต่งไปพร้อม ๆ กันเลยโดยเฉพาะกิ่งที่อยู่สูงสุด แต่งให้ทรงพุ่มต้นโปร่งขึ้น เป็นการประหยัดแรงงาน
5. โดยทั่วไปการตัดแต่ง จะทำให้มีการแตกยอดใหม่หลายกิ่งในตำแหน่งเดียวกัน ดังนั้นต้องทำการตัดแต่งอีกครั้งหนึ่ง เป็นการเลือกไว้กิ่งลักษณะนี้จะลดจำนวนช่อที่ไม่สมบูรณ์ลง ทำให้ช่อที่ติดผลมีโอกาสเจริญเติบโตเป็นช่อที่สมบูรณ์ ผลผลิตและคุณภาพดี
6. กิ่งที่ไม่ออกดอกในปีผ่านมา ยอดยาว ให้ตัดปลายกิ่งเหล่านี้ออกให้เสมอกันทั้งพุ่มทำให้สะดวกต่อการปฏิบัติงานในสวน
7. การเก็บเกี่ยวผลโดยการตัดช่อผลให้ลึกเข้าไปหากิ่งประมาณ 1/2 - 1 ฟุต
8. ระยะช่วงฝนหรือก่อนใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ควรตัดแต่งกิ่งกระโดง กิ่งน้ำค้างออกก่อนเพราะช่องนี้มักมีกิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาก

การตัดแต่งไม้ผลเขตหนาว
การตัดแต่งกิ่งแอปเปิ้ล
การตัดแต่งกิ่งแอปเปิ้ลจะใช้วิธีแบบเลี้ยงยอดกลางหรือดัดแปลงยอดกลาง ซึ่งการตัดแต่งทรงต้นแบบนี้จะทำให้ได้กิ่งที่มีความแข็งแรง กิ่งแขนงที่แตกออกมาได้รับแสงแดดทั่วถึง และมีการระบายอากาศดี
เมื่อต้นแอปเปี้ลมีอายุมากขึ้น การตัดแต่งกิ่งหลักคือ การตัดแต่งกิ่งที่แน่นและซ้อนกันออก สำหรับการตัดแต่งกิ่งประจำปี จะมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้มีการแตกกิ่งหรือสเปอร์ใหม่ๆ
ขั้นตอนในการตัดแต่งกิ่งสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
เมื่อต้นแอปเปี้ลมีความสูงประมาณ 1 เมตร ก็ตัดยอดออกให้มีความสูงเพียง 70 ซม. แล้วปล่อยให้แตกต่างกิ่งใหม่ เมื่อกิ่งแก่แล้วก็โน้มกิ่งขนานกับพื้น ปลิดใบและปลายยอดออกซึ่งจะช่วยให้ตาแตกออกมาได้ง่าย เมื่อกิ่งใหม่แตกออกมาแล้วก็จัดให้มีระยะห่างกันพอสมควรและเด็ดยอดของกิ่ง เพื่อไม่ให้กิ่งเจริญทางกิ่งใบมากเกินไปแล้วกักน้ำระยะหนึ่ง ขณะที่ทำการกักน้ำอยู่ต้องคอยสังเกตุการทางออกของใบ เมื่อใบทำมุมตั้งฉากกับกิ่งแล้ว แสดงว่าตายอดซึ่งเป็นตาผสมมีความพร้อมที่จะแตกออกก็ทำการปลิดใบออก พร้อมกับโน้มกิ่ง หลังจากนั้นก็ให้น้ำตามปกติ หลังจากปลิดใบประมาณ 1 เดือน ตายอดจะแตกช่อดอกและใบออกมา

การตัดแต่งกิ่งท้อ
การตัดแต่งกิ่งท้อแบ่งออกได้ 2 ระยะ คือ
1. การตัดแต่งกิ่งท้อที่อายุยังน้อยอยู่ โดยเฉพาะทำให้ใช้การตัดแต่งกิ่งทรงต้นแบบตัดยอดกลาง การสร้าง frame work นั้น จะเริ่มโดยการตัดยอดกลางให้รอยตัด (head) สูงจากพื้นดินประมาณ 60 ซม. และตัดกิ่งแขนงออกมาจากลำต้นให้เหลือประมาณ 1-2 ตา เมื่อตาของกิ่งแขนงแตกสาขาออกมาแล้วก็เลือกตัดกิ่งสาขาออกให้เหลือกิ่งที่อยู่ในตำแหน่งเหมาะสมประมาณ 3 กิ่ง ออกประมาณ 1 ใน 3 ของความยาว เพื่อกระตุ้นให้แตกสาขาออกไปอีก
2. การตัดแต่งกิ่งท้อที่เริ่มตกผล เมื่อท้อมีอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป และจะเริ่มให้ผลผลิตเป็นการค้าได้เมื่ออายุได้ 5-6 ปีขึ้นไป การตัดแต่งต้นท้อนิยมทำในฤดูหนาวขณะที่ต้นยังฟักตัว เนื่องจากสามารถทีปฏิบัติงานได้สะดวก การตัดแต่งในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ท้อให้ผลผลิตที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอทุกๆปี
ท้อเป็นไม้ผลที่มีอายุทางการค้าไม่ยืนนัก ปกติจะมีอายุประมาณ 18-20 ปี หลังจากนั้นต้นจะโทรมให้ผลผลิตลดต่ำลง ซึ่งในสภาพเช่นนี้ อาจจำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งอย่างหนัก เพื่อกระตุ้นให้ต้นท้อกลับไปสู่ระยะเยาว์ อีกครั้งหนึ่ง หรืออาจจำเป็นต้องเปลี่ยนยอด ซึ่งอาจเป็นพันธุ์ใหม่ก็ได้

การตัดแต่งกิ่งพลับ 1. การตัดแต่งทรงพุ่มพลับ การตัดแต่งทรงต้นแบบตัดยอดกลางออก โดยให้มีกิ่งหลัก 3-4 กิ่ง และกิ่งแขนงที่แตกจากหลัก 7-9 กิ่ง 2. การสร้างทรงต้นของพลับนี้ พลับญี่ปุ่นจะสามารถเร่งให้ทรงต้นเข้าที่ได้เร็วกว่าพลับยุโรป เนื่องจากกิ่งของพลับญี่ปุ่นพร้อมที่จะแตกตาแขนงอยู่แล้ว ในขณะที่พลับยุโรป ตาจะฟักตัวอยู่
3. ภายในระยะ 2 ปีแรกของการแต่งทรงต้นจะต้องคอยตอนกิ่ง (heading back) เพื่อกระตุ้นให้ตาข้างแตกแขนงออกมา เป็นกิ่งแขนง เมื่อได้ทรงต้นตามที่ต้องการแล้วจะต้องคอยควบคุมการเจริญเติบโตของกิ่งที่แตกออกมา
4.ตามปกติแล้วพลับจะมีการออกดอกติดผลบนสปอร์ที่แตกออกมาจากกิ่งแขนงและสปอร์เหล่านี้จะมีอายุ 5-8 ปี การตัดแต่งกิ่งจึงมีเป้าหมาย เพื่อกระตุ้นให้กิ่งแขนงมีการแตกสปอร์ให้มากที่สุด ควรตัดแต่งกิ่งเพื่อกระตุ้นให้เกิดสปอร์นี้ ควรทำให้ระยะที่ต้นกำลังฟักตัวอยู่ และเมื่อต้นพลับติดผลจะต้องตัดกิ่งที่ติดผลทิ้งบ้างเพื่อลดภาระเลี้ยงดูผลและกิ่งของต้น และยังช่วยให้การเจริญเติบโตของกิ่งใบที่เหลืออยู่ดีด้วยการจัดกิ่งที่ติดผลออกยังช่วยลดค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการผลัดผลลงได้ส่วนหนึ่ง

2 ความคิดเห็น:

sonojab กล่าวว่า...

ขอบคุณครับสำหรับสาระดี ๆ

ผมเป็นคนหนึ่งที่กำลังมีปัญหากับการตัดแต่งกิ่ง

เพราะไม่ทราบว่าจะตัดยังไงดี

Unknown กล่าวว่า...

ใช่ครับผมก้อมีปัญหากับการตัดแต่กิ่ง เช่นกัน แต่ไม่ร้ว่าการตัดแต่งกิ่งไม้ผลทุกชนิดจะมีการตัดแต่งเหมือนกันหรือป่าว...แต่น่าจะเหมือน