วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

การใส่ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ย
สุเมษ เกตุวราภรณ์ (2537) ได้บรรยายว่าการใส่ปุ๋ยไม้ผลทำได้ 2 วิธี คือ
1. การให้น้ำทางดิน ซึ่งใช้กับธาตุอาหารที่ไม้ผลจำเป็นต้องใช้ปริมาณมาก ซึ่งได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซี่ยม และแม็กนีเซียม เป็นต้น
2. การให้น้ำทางใบ ธาตุอาหารที่ใช้ปริมาณน้อย เช่น สังกะสี ทองแดง และโบรอน สามารถให้ไม้ผลโดยการพ่นให้ทางใบ
ก่อนที่จำให้ปุ๋ยแก่ไม้ผล ผู้ปลูกจะต้องพิจารณาว่าไม้ผลที่ปลูกมีปัญหาขาดแคลนแร่ธาตุอะไรบ้าง ในเวลาใด และมีสาเหตุมาจากอะไร บางครั้งไม้ผลอาจแสดงอาการขาดธาตุบางอย่างทั้งๆ ที่ดินมีธาตุอาหารชนิดนั้นๆ อยู่มาก แต่อยู่ในรูปที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น อาจมีสาเหตุมาจากดิน เป็นกรดมากเกินไป และจะทำให้อาการขาดธาตุอาหารนั้น หายไปได้
การปลูกไม้ผลเพื่อการค้าบางชนิด เช่น ส้ม องุ่น และสับปะรด เมื่อดำเนินการในรูปอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะมีการศึกษาเกี่ยวกับกับให้ปุ๋ยอย่างละเอียด เพื่อให้การให้ปุ๋ยเป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เริ่มต้นจากการสำรวจและวิเคราะห์ดิน การวิเคราะห์ธาตุอาหารในใบหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ งานทดลองวิธีการให้ปุ๋ย ชนิดปุ๋ย ปริมาณปุ๋ย รวมไปถึงการคำนวณผลตอบแทนสูงสุดที่จะได้รับจากการให้ปุ๋ย
การให้ปุ๋ยโดยทั่วไปจะคำนึงถึงการเจริญเติบโตทางกิ่งใบ และปริมาณผลผลิต แต่ในไม้ผลบางชนิดจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของผลผลิตด้วย เช่นการให้ปุ๋ยโปแตสเซี่ยมมากเกินไปจะทำให้คุณภาพของผลส้มต่ำลง

ธาตุอาหารในดินที่พืชต้องการ
ธาตุอาหารในดินที่พืชต้องการ มี 2 พวกด้วยกัน คือ
ตุอาหารที่พืชต้องการเป็นปริมาณมาก Macronutrients or Major elements ธาตุอาหารพวกนี้ส่วนหนึ่งประกอบด้วยไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปแตสเซี่ยม (K) โดยทั่วไปในดินมักจะขาดธาตุอาหารดังกล่าวนี้จึงต้องพิจารณาก่อน และต้องใส่เพิ่มเติมในดินเสมอ จึงมักเรียกว่า ธาตุอาหารหลัก Primary nutrients สำหรับอีกส่วนหนึ่ง คือ แคลเซี่ยม (Ca) แมกนีเซี่ยม (Mg) และกำมะถัน (s) ธาตุดังกล่าวนี้พืชมักต้องการน้อยกว่าและในดินมักไม่ค่อยขาด จึงเรียกเป็นธาตุอาหารรอง Secondary nutrients

ธาตุอาหารที่พืชต้องการน้อย Micronutrient or Minor elements of Trace elements พวกนี้ประกอบด้วย ธาตุเหล็ก (Fe) ทองแดง (Cu) แมงกานิส (Mn) โมลิปตินั่ม (Mo) โบรอน (B) และคลอรีน (CI) ธาตุอาหาร 7 นี้พืชต้องการน้อยมากก็จริง แต่มีความสำคัญเท่าเทียมกันกับพวกแรก และธาตุพวกหลังนี้บางทีเรียกกันว่า ธาตุอาหารเสริม หรือธาตุอาหารปลีกย่อย
การตรวจสภาพดิน
การที่ทราบว่าดินมีหรือขาดธาตุอาหารอะไรหรือไม่นั้น ควรจะนำตัวอย่างดินไปตรวจเสียก่อนจะทำการปลูกพืช เพื่อจะได้ปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชต่อไปโดยอาจทำการดังนี้
ทดสอบโดยการวิเคราะห์ดิน บางกรณีการตรวจดินมีธาตุอาหารครบแต่สภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินมีการอาจทำให้พืชไม่สามารถนำธาตุอาหารต่างๆ ที่มีเพียงพอนี้มาใช้ก็ได้ทดสอบโดยการนำเอาส่วนต่างๆ ของพืชไปวิเคราะห์ ทำโดยเมื่อปลูกพืชไปแล้ว ปรากฏว่าพืชมีอาการผิดปกตินำเอาส่วนต่างๆ เช่น ใบ ก้าน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชไปตรวจสอบ และถ้าจะให้แน่นอนควรทำการวิเคราะห์ดินควบคู่กันไปด้วย เช่น ในการวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของพืช ปรากฏว่ามีการขาดธาตุเหล็ก (Fe) แต่ในการวิเคราะห์ดินปรากฏว่ามีธาตุเหล็กเพียงพอ ก็สามารถรู้ได้ทันทีว่า ในดินมีธาตุเหล็กแต่พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้ซึ่งอาจจะเกิดจากสภาพ pH ของดินไม่เหมาะสมก็ได้ การแก้ไขควรทำโดยการปรับ pH ให้เป็นกลางหรือใกล้เคียง ธาตุเหล็กก็จะสะลายตัวมาเป็นอาหารของพืชได้

ชนิดของปุ๋ย
ปุ๋ยที่นำมาบำรุงดินเพื่อให้ธาตุอาหารเพียงพอแก่ความต้องการของไม้ผลใช้กัน 2 รูปคือ
1.ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ฯลฯ ซึ่งได้มาจากซากส่วนของสิ่งมีชีวิต เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารน้อย
ประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์
1. เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารครบทุกอย่าง ตามที่ต้นไม้ต้องการ
2. มีคุณสมบัติช่วยทำให้ดินร่วน โปร่ง อากาศ และน้ำซึมผ่านได้สะดวก
3. ช่วยให้ดินอุ้มน้ำได้มาก
4. ช่วยให้ดินเหนียว ร่วนชื้น ทำให้ดินทราบจับตัวกันดีขึ้น
5. ช่วยให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ มีการสลายตัวเร็วขึ้น
6. เป็นอาหารของจุลินทรีย์ในดินทำให้จุลินทรีย์แข็งแรงขยายพันธ์ได้ดีขึ้น
7. ใช้ได้กับดินทุกชนิด ไม่ว่าจะมี pH อย่างไร
8. ช่วยให้การให้น้ำซึมลงไปในดินได้ลึก เป็นการเพิ่มธาตุอาหารแก่รากขนอ่อน ในระดับลึก
9. มีราคาถูกกว่าปุ๋ยวิทยาศาสตร์

2.ปุ๋ยอนินทรีย์ หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ คือปุ๋ยที่ได้จากแร่ธาตุต่างๆ ที่มนุษย์ได้ผสมได้แปรรูปเพื่อจะได้นำมาใช้กับพืชได้ แต่บางครั้งก็ได้จากพื้นดินโดยตรง เช่น rock phosphate บางครั้งก็ได้จากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งการผลิตโดยตรง หรือผลพลอยได้ โดยปกติปุ๋ยชนิดนี้มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าปุ๋ยชนิดแรก แต่ผู้ใส่จะต้องคำนึงถึงผลต่อเนื่องได้ คือสภาพโครงสร้างของดิน และสภาพความเป็นกรดเป็นด่างจะเปลี่ยนแปลงไป ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่มีจำหน่ายอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

1. ปุ๋ยเดี่ยว หมายถึง ปุ๋ยที่ประกอบด้วยแร่ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเพียงธาตุเดียว เช่น ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งมีธาตุไนโตรเจน 44-46% หรือ ปุ๋ยดับเบิ้ลฟอสเฟต มีธาตุฟอสฟอรัส 43-49% และปุ๋ยมิวส์เอทออฟโปแตส ซึ่งมีธาตุโปแตสเซี่ยม 50-60 %
2. ปุ๋ยผสม หมายถึง ปุ๋ยที่ประกอบด้วยแร่ธาตุอาหารตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เช่น ปุ๋ย 12-24-12 หมายถึง ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซี่ยมในปริมาณ 12,24 และ 12 % ตามลำดับ

ในป้ายที่บอกสูตรปุ๋ย จะบอกเปอร์เซ็นต์ของ N,P และ K ถ้ารวมกันทั้งหมดแล้วจะแบ่งออกเป็น 4 พวกคือ

1. สูตรต่ำ คือปุ๋ยที่รวมเปอร์เซ็นต์ แล้วได้ต่ำกว่า 15 เช่นสูตร 8-2-4
2. สูตรกลาง คือปุ๋ยที่รวมเปอร์เซ็นต์แล้วได้ระหว่าง 15-25 เช่นสูตร 4-10-7
3. สูตรสูง คือปุ๋ยที่รวมแล้วเปอร์เซ็นต์ได้ 25-30 เช่นสูตร 6-12-12
4. สูตรเข้มข้น คือเป็นปุ๋ยที่รวมแล้วมีเปอร์เซ็นต์เกินกว่า 30 เช่น 17-10-17

การคิดเปอร์เซ็นต์ สูตรปุ๋ยจะคิดเปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก เช่น ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์ธาตุอาหารรวม 34 ก็หมายถึงว่าในปุ๋ยหมัก 100 กก. จะมี N P และ K รวมกันได้ 34 ส่วนน้ำหนักที่เหลืออีก 66 กก. นั้น จะเป็นสารที่ไม่ทำปฏิกิริยาทางเคมีต่อธาตุอาหารเช่น ทรายโคโลติค-ไลม์สโตน จิบซั่มเวอร์มิคิวไลท์ เป็นต้น สารที่เพิ่มเติม 66 กก. เพื่อให้ครบ 100 นั้น เรียกว่า “fertilizer filler”




รูปที่ 1.3 ปุ๋ยเคมีที่มีขายอยู่ในท้องตลาด
ฤดูกาลในการให้ปุ๋ย
การให้ปุ๋ยไม้ผลยึดหลักง่ายๆ ในช่วงของการให้คือ
1. ระยะที่พืชสร้างใบ หมายถึงช่วงต้นของฤดูฝน ระยะนี้ไม้ผลเพิ่งถูกเก็บเกี่ยวใบต้นอยู่ในสภาพทรุดโทรม เมื่อได้รับฝนจะเริ่มแตกใบใหม่ และสร้างอาหารสะสมไว้สำหรับการออกดอกออกผล ปุ๋ยที่ให้ในระยะนี้ควรเป็นปุ๋ยที่มีแร่ธาตุไนโตรเจนสูง ปุ๋ยผสมที่มีอัตราส่วนที่ใช้คือ 1:1:1 หรืออาจเพิ่มปุ๋ยเดียวที่มีเฉพาะไนโตรเจนลงไปด้วย หรือระยะนี้ควรใส่ปุ๋ยคอกลงไปด้วยก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่ง
2. ระยะที่พืชต้องการสร้างดอก แร่ธาตุทำหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกดอกคือ ฟอสฟอรัส ดังนั้นปุ๋ยที่ให้ในระยะนี้จึงควรให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงคือ อัตราส่วน 1:2:1 หรือปุ๋ยทางใบช่วยด้วย
3. ระยะที่พืชกำลังติดผล ในระยะที่ไม้ผลติดแรกๆ จะต้องการไนโตรเจนที่สูง แต่ต่อมาการใช่ไนโตรเจนจะน้อยลง จะต้องการโปแตสเซี่ยมเพื่อเพิ่มคุณภาพของผลทั้งด้านคุณภาพและการเก็บรักษา อัตราส่วนของปุ๋ยที่เหมาะสมคือ 2:2:3
วิธีการใส่ปุ๋ย
วิธีการใส่ปุ๋ยมีหลายวิธีด้วยกัน สำหรับไม้ผลคือใส่ลงในดิน (Soil application)
1. การรองก้นหลุมก่อนปลูกส่วนมากใช้เป็นพวกปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือพวกร็อคฟอสเฟต
2. ให้หลังจากการปลูกแล้วโดย

1. หว่านรอบๆ โคนต้นไม้ผล
2. ขุดร่องรอบๆ โคนต้นให้พอดีกับทรงพุ่มต้นเอาปุ๋ยหว่าน ในร่องแล้วเอาดินถม
3. ขุดหลุมเป็นระยะๆ โดยรอบทรงพุ่มต้นเอาปุ๋ยใส่แล้วกลบ

หรือใช้ในรูปของสารละลายแล้วฉีดให้ทางใบ เพื่อเร่งการให้ปุ๋ยอย่างเร่งด่วนแก่พืชพวกปุ๋ยไนโตรเจน ที่ขายในเมืองไทยส่วนใหญ่อยู่ในรูป แอมโมเนียซัลเฟต ,ยูเรีย , แคลเซี่ยมไซนาไนต์, แอมโมเนียมไนเตรท และ แคลเซี่ยมไนโตรท เป็น

พวกปุ๋ยฟอสฟอรัสมีหลายอย่างด้วยกันมีอยู่ 2 ชนิด ที่ละลายเป็นอาหารพืชได้ง่ายที่สุด คือ
1. ซุปเปอร์ฟอสเฟต (CaH4 PO4)2 CaSO4 (16-20 % P2 O5)
2. ดับเบิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟต (43-49 % P2O5)

ปุ๋ยพวกโปแตสเซียม เป็นปุ๋ยละลายในน้ำได้ว่าย เป็นตัวการที่ทำให้คุณภาพของผลทางด้านรสชาดดีมี 2 รูปคือ
1. โปแตสเซี่ยมซัลเฟต เหมาะสมกับไม้ผลทุกชนิด
2. โปแตสเซี่ยมคลอไรด์ ไม่เหมาะสมกับไม้ผลโดยเฉพาะ ทุเรียน ส้ม

ในท้องตลาดปัจจุบันนี้แม่ปุ๋ยต่างๆ หาซื้อได้ยาก ส่วนใหญ่จะมีปุ๋ยสมบูรณ์ คือ ปุ๋ย ที่มีธาตุจำเป็นทั้งสามชนิด คือ N, P และ K สูตรต่างๆ ทั้งสูตรต่ำ สูตรสูง สูตรกลางและสูตรเข้มข้น หากพิจารณาความนิยมของชาวสวน จะเห็นว่านิยมปุ๋ยสูตรสูงหรือเข้มข้น สูตร 12-12-12 , 15-15-15 และที่นิยมสูงคือ 17-17-17 ทั้งนี้เป็นการเอาอย่างกันว่าใครใช้สูตรอะไรแล้วได้ผลมากและคุณภาพสูงโดยไม่ได้คำนึงถึงดินของตนเองว่าแตกต่างกับสวนอื่นๆ อย่างไรบ้าง

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ไม่มีไม้ยืนต้นหรอครับ

Unknown กล่าวว่า...

ไม่มีไม้ยืนต้นหรอครับ